ประกาศศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI)

ภายหลังการประกาศผลการประเมินคุณภาพวารสารในฐานข้อมูล TCI รอบที่ 4 (พ.ศ. 2563-2567) เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563 ได้มีข้อซักถามมาทางศูนย์ฯ เป็นจำนวนมาก เกี่ยวกับการอ้างอิงกลุ่มคุณภาพวารสาร (กลุ่ม 1 กลุ่ม 2 และ กลุ่ม 3) ของ TCI กับบทความวิจัย/วิชาการที่อยู่ระหว่างการประเมินและระหว่างการตีพิมพ์เผยแพร่ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ ใช้เพื่อสำเร็จการศึกษาหรือใช้ในการประกันคุณภาพ ในการนี้ ศูนย์ TCI จึงขอประกาศให้ทราบแนวทางโดยทั่วกัน ดังนี้

  1. หากบทความใดได้รับการตอบรับ (Final accept) จากบรรณาธิการวารสารให้ลงตีพิมพ์ในวารสารใดๆ ก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ให้อ้างอิงกลุ่มวารสารตามผลการประเมินคุณภาพวารสารรอบที่ 3 (พ.ศ. 2558-2562) ถึงแม้ว่าบทความนั้นๆ จะไปปรากฎในเล่มที่ตีพิมพ์หลังจากปี 2562 ก็ตาม

  2. หากบทความใดได้รับการตอบรับ (Final accept) จากบรรณาธิการวารสารให้ลงตีพิมพ์ในวารสารใดๆ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป ให้อ้างอิงกลุ่มวารสารตามผลการประเมินคุณภาพวารสารรอบที่ 4 (พ.ศ. 2563-2567)

เพื่อความเข้าใจตรงกัน ขอแสดงตัวอย่าง ดังนี้

ตัวอย่าง: บทความ X และบทความ Y ได้ส่งไปขอรับการลงพิมพ์ในวารสาร A ซึ่งวารสาร A ได้รับการจัดกลุ่มคุณภาพเป็นกลุ่ม 1 ในการประเมินรอบที่ 3 (2558-2562) แต่ถูกปรับลดกลุ่มลงมาเป็นวารสารในกลุ่มที่ 2 ในการประเมินรอบที่ 4 (2563-2567)

กรณีที่ 1: บทความ X ได้รับการตอบรับเพื่อลงพิมพ์ใน วารสาร A ตามหนังสือตอบรับ (acceptance letter) ลงวันที่ 10 ธันวาคม 2562 แต่บทความจะไปปรากฏใน วารสาร A ในปี 2563 ให้ถือว่า บทความ X อยู่ในวารสาร A ที่เป็นวารสารกลุ่มที่ 1

กรณีที่ 2: บทความ Y ได้รับการตอบรับเพื่อลงพิมพ์ใน วารสาร A ตามหนังสือตอบรับ (acceptance letter) ลงวันที่ 1 มกราคม 2563 แต่บทความจะไปปรากฏใน วารสาร A ในปี 2563 ให้ถือว่า บทความ Y อยู่ในวารสาร A ที่เป็นวารสารกลุ่มที่ 2

อย่างไรก็ตาม ข้อความข้างต้นเป็นเพียงข้อแนะนำจากศูนย์ TCI ผลการพิจารณาว่าบทความวิจัย/วิชาการจะอยู่ในกลุ่มคุณภาพใด ขึ้นอยู่กับประกาศของหน่วยงาน/สถาบันของอาจารย์/นักวิจัย/นักศึกษา เป็นสำคัญ

ประกาศ ณ วันที่ 30 มกราคม 2563

ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ

หัวหน้าศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI)


ศูนย์ TCI ขอแจ้งเตือนหัวหน้ากองบรรณาธิการของวารสารที่อยู่ในฐานข้อมูลของศูนย์ TCI เกี่ยวกับการออกใบตอบรับบทความ (acceptance date) ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง หรือ การออกหนังสือตอบรับบทความย้อนหลัง ยกตัวอย่างเช่น

  1. กระบวนการประเมินคุณภาพบทความ (peer review) เสร็จสิ้นในเดือน มกราคม 2563 แต่ออกใบตอบรับบทความเพื่อลงพิมพ์ ก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2562

  2. กองบรรณาธิการ กำกับวัน received date, revised date และ accepted date ไม่ตรงกับความเป็นจริงที่ได้ดำเนินการ

  3. มีการกระทำอื่นๆ ระหว่างกระบวนการประเมินคุณภาพบทความ และในการจัดการ/การตีพิมพ์บทความในวารสาร ที่ผิดไปจากความเป็นจริง

ตัวอย่างข้างต้น ถือเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามหลักจริยธรรม/จรรยาบรรณของการดำเนินการจัดการวารสาร หากมีการร้องเรียนและตรวจพบว่าการกระทำดังกล่าวไม่ถูกต้องจริง จะส่งผลให้นำไปสู่การพิจารณาถอดถอนวารสารออกจากฐานข้อมูล TCI ในทันที

ดังนั้น ศูนย์ TCI จึงขอความร่วมมือจากท่านหัวหน้ากองบรรณาธิการ ซึ่งถือเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินการของวารสาร กำกับดูแลให้การดำเนินการจัดการวารสารของท่านเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โปร่งใสและถูกต้องตามหลักวิชาการและตามหลักจริยธรรม/จรรยาบรรณอย่างเคร่งครัด

ประกาศ ณ วันที่ 30 มกราคม 2563

ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ

หัวหน้าศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI)

ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) มีแนวคิดในการพัฒนาคุณภาพวารสารวิชาการไทยด้วยการจัดประเมินคุณภาพวารสารอย่างต่อเนื่อง โดยได้ดำเนินการประเมินและจัดกลุ่มคุณภาพวารสารไทย (re-evaluations) ในฐานข้อมูล TCI ทุกๆ 5 ปี เพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนางานวิจัยผ่านวารสารวิชาการที่มีคุณภาพ องค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพวารสารคือ การดำเนินงานวารสารที่ถูกต้องตามจริยธรรม/จรรยาบรรณ (publication ethics)

ในปี 2562 นี้ ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) จึงมีแนวคิดในการพิจารณาองค์ประกอบด้านจริยธรรม/จรรยาบรรณของวารสารวิชาการไทยในฐานข้อมูล TCI นอกเหนือจากเกณฑ์การประเมินและจัดกลุ่มคุณภาพวารสารรอบปกติ โดยมีการพิจารณาในประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้

  1. บทความที่ตีพิมพ์ในวารสารต้องผ่านการตรวจสอบการพิมพ์ซ้ำ/ซ้ำซ้อน (duplications/plagiarism) เช่น การไม่ดำเนินการที่เหมาะสมกับบทความที่ตรวจพบว่ามีการตีพิมพ์ซ้ำหรือซ้ำซ้อน เป็นต้น

  2. การตีพิมพ์เผยแพร่บทความที่มี conflict of interest เช่น หัวหน้ากองบรรณาธิการ (editors) ตีพิมพ์เผยแพร่บทความของตนเองอย่างมีนัยสำคัญ หรือ ไม่มีการตรวจสอบคุณภาพบทความก่อนการตีพิมพ์โดยผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับบทความ เป็นต้น

  3. จำนวนและคุณภาพการอ้างอิงของวารสารผิดไปจากสภาพความเป็นจริง เช่น มีการกำกับและร้องขอให้มีการอ้างอิงบทความในวารสารทั้งในลักษณะลับหรือเปิดเผย และมีการใช้การอ้างอิงที่ไม่ถูกต้องและสอดคล้องกับเนื้อหา เป็นต้น

  4. การเก็บค่า page charge หรือ processing fee มีการดำเนินการอย่างไม่โปร่งใส เช่น ไม่มีประกาศกระบวนการเรียกเก็บอย่างชัดเจน หรือไม่ระบุราคาหรือเงื่อนไขของการเรียกเก็บค่า page charge เป็นต้น

  5. หัวหน้ากองบรรณาธิการและกองบรรณาธิการต้องกำกับให้การดำเนินงานของวารสาร เป็นไปตามนโยบายและวัตถุประสงค์ให้ถูกต้องตามจริยธรรม/จรรยาบรรณ และต้องดำเนินการอย่างเหมาะสมกับผู้นิพนธ์หรือบทความที่ตรวจพบว่ามีการกระทำผิดด้านจริยธรรม/จรรยาบรรณ

  6. อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรม/จรรยาบรรณและมาตรฐานการจัดการวารสาร


บัดนี้ ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) ได้เปิดรับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการผิดจริยธรรม/จรรยาบรรณของวารสารในช่องทางต่าง ๆ โดยศูนย์ฯ จึงกำหนดแนวทางเพื่อดำเนินงานด้านจริยธรรม/จรรยาบรรณของวารสารในฐานข้อมูล TCI ดังนี้

  1. เมื่อได้รับข้อร้องเรียน ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) จะตรวจสอบข้อมูลหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และในกรณีที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ศูนย์ฯ อาจแจ้งกลับไปยังบรรณาธิการวารสารเพื่อรับทราบและชี้แจง

  2. เมื่อศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) ได้รับคำชี้แจงและตรวจสอบแล้ว พบว่าข้อร้องเรียนนั้นเป็นจริง วารสารจะถูกถอดจากกลุ่มประเมินปกติ (กลุ่ม 1-3) และถูกจัดไปอยู่ในกลุ่มวารสารที่ไม่ผ่านเกณฑ์จริยธรรม/จรรยาบรรณข้างต้น เป็นเวลา 2-5 ปี (embargo period) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลักฐาน ลักษณะ และข้อเท็จจริงด้านจริยธรรม/จรรยาบรรณที่ปรากฎของแต่ละวารสาร

ประกาศ ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2562

ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ

หัวหน้าศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI)